สุนัขพันธุ์ใดมีโอกาสเสี่ยงสูง?
ผู้รักสุนัขหลายคนโดยเฉพาะผู้ชื่นชอบสุนัขพันธุ์ขนาดใหญ่ หรือพันธุ์ขนาดเล็กบางพันธุ์ คงเคยประสบปัญหาสุนัขป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกข้อต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตของสุนัขและเจ้าของไม่มากก็น้อย เจ้าโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่างๆที่ว่านั้น เป็นได้ทั้งโรคข้อเสื่อม ไขข้อเสื่อม ที่ต่างก็หมายถึงการเสื่อมของข้อต่อจุดใดๆก็ตามในร่างกาย อาทิ ข้อสะโพก ข้อเข่า เป็นต้น
ซึ่งสัตวแพทย์จากคลินิกข้อและกระดูก โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อจะมาช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้เจ้าของรู้จักและหมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงของคุณว่า เข้าข่ายเจ็บป่วยด้วยโรคนี้หรือไม่ โดยสาเหตุของโรคนี้มีหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน แต่สาเหตุหลักเกิดจากพันธุกรรม ถัดมาเป็นการเสื่อมตามอายุขัย และปัจจัยอาการและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยง เช่น ในรายสุนัขพันธุ์ขนาดเล็ก เจ้าของมักชอบให้แคลเซียม ในกรณีที่สุนัขไม่มีความจำเป็นต้องได้รับเพิ่ม เพราะสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมได้ อันเนื่องจากการได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล

สำหรับสุนัขที่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้นั้น ที่พบมากในเมืองไทย เช่น โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ เยอรมัน เชฟเฟอร์ด รวมถึงสุนัขพันธุ์ขนาดเล็กอย่างปอมเมอราเนียน ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย แต่ส่วนมากมักพบอาการชัดเจนในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เนื่องจากข้อต่อต่างๆต้องรับน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างมาก เมื่อเกิดปัญหาในสุนัขพันธุ์ใหญ่ จึงมักพบว่า ตัวที่มีอาการรุนแรงจะไม่สามารถลุกหรือเดินได้เป็นปกติ
สัตวแพทย์คลินิคข้อและกระดูก โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ยังมีวิธีป้องกันสุนัขของคุณให้ห่างไกลโรคนี้ อันดับแรกคือ การคัดเลือกสายพันธุ์ โดยต้องรู้ประวัติพ่อแม่พันธุ์ว่า มีประวัติเป็นโรคนี้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจระดับหนึ่ง เมื่อรู้แล้วว่า สายพันธุ์ที่คุณเลือกที่จะเลี้ยงมีความเสี่ยง ควรปรับพฤติกรรมการเลี้ยงดูให้อาหารที่มีประโยชน์ โดยยึดหลักต้องมีความสมดุลกับร่างกาย นอกจากนี้ เจ้าของยังต้องให้อาหารที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ วัย และกิจกรรมของสุนัข ขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดู ต้องดูว่าคุณเลี้ยงสุนัขบนพื้นห้องลื่นหรือไม่ และไม่ปล่อยให้ขนที่ฝ่าเท้าสุนัขยาวเกินไป จะทำให้ลื่น เดินลำบาก มีผลต่อข้อต่อต่างๆของขาได้
แล้วถ้าสุนัขของคุณเป็นโรคนี้แล้ว จะทำอย่างไร? สัตวแพทยคลินิคข้อและกระดูก โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อบอกว่า โรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากมีความผิดปกติของโครงสร้างข้อต่อแล้ว ส่วนแนวทางการการรักษาโรคดังกล่าวนั้น แบ่งออกเป็น
1.การรักษาแบบประคับประคองอาการ โดยให้ยาลดอาการปวด หรือการใช้อุลตราซาว การกระตุ้นไฟฟ้า หรือการฝังเข็ม เพื่อลดอาการปวด
2.การทำกายภาพฟื้นฟู โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การขยับข้อต่อให้สามารถใช้งานขาหรือข้อต่อนั้นๆ ได้อย่างปกติ ซึ่งอาจใช้การว่ายน้ำ การเดินลู่วิ่งในน้ำเป็นตัวช่วยในการฟื้นฟู
3.การผ่าตัด ในบางรายที่อาจต้องทำการผ่าตัดในการรักษา เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เจ้าของควรต้องสังเกตสุนัขของคุณดูว่า มีอาการผิดปกติอย่างไรบ้าง จะได้พาไปพบแพทย์รักษาได้ทัน ถ้าปล่อยไว้สุนัขาอาจต้องทนทุกข์ทรมานไปอีกนาน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ EPA
หลังได้ทำความรู้จักกับโรคไขข้อกระดูกเสื่อมกันไปแล้ว ส่วนหนึ่งของการรักษาจะมีเรื่อง EPA เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งสัตวแพทย์คลินิคข้อและกระดูกโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ อธิบายว่า EPA ที่ว่าคือ Eicosapentaenoic acid เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้าน หรือ ลดการอักเสบของร่างกาย ซึ่งอาจเป็นส่วนผสมในอาหารหรือผลิตภัณฑ์ยาบำรุงข้อ ซึ่งส่วนใหญ่มักจัดอยู่ในกลุ่มยาบำรุง หรือ Phamaceutical product ซึ่งมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย แต่ในบางรายอาจ ต้องอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ เช่น ในสัตว์ป่วยที่มีปัญหาโลหิตจาง
ทั้งนี้ ตามปกติเราสามารถพบสารเหล่านี้ได้ในอาหารจำพวกปลาทะเล อาทิ แซลมอน ทูน่า เทร้าส์ และแมคคอเรล โดย EPA นั้น มีความสำคัญกับไขข้อกระดูกสุนัขในการช่วยลดการอักเสบของข้อโดยเฉพาะบริเวณกระดูกอ่อน ด้วยการไปลดเอ็นไซน์ที่มาทำลายข้อต่อ ส่วนการนำ EPA ที่ว่ามาใช้นั้น นอกเหนือจากการรับประทานจากอาหารประจำวันแล้ว ควรปรึกษาสัตว์แพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อสุนัขที่คุณรัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น